วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 
 
วันวิสาขบูชา
 
                           เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ  เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน)
                           ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท 

                                                                          วันมาฆบูชา

 
     เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย  "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าในปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)
               วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศานาพุทธเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์[พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

                   นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยวัยรุ่นสาวมักจะเสียตัวในวันวาเลนไทน์ หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) แทน

สำหรับในปี พ.ศ. 2556 นี้ วันมาฆบูชาจะตรงกับ วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติ



วันอาสาฬหบูชา

 
                         เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ  ณ  ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล        (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

วันอัฏฐมีบูชา

         วันอัฏฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย)
นอกจากนั้น วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย


 
 
              เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 7 วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา เป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เมื่อเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้น ตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ประเพณีถวายพระเพลิงฯ จำลอง ที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นต้น
 
 


วันเข้าพรรษา 

 
        วันเข้าพรรษา  เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม[1] การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา 
 

             วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือได้ว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย
 
           สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย
 

แหล่งที่มา
 
วันออกพรรษา


                   วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ปวารณา" จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น

           เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดวันออกพรรษาหนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนครพร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย
นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่าง ๆ ด้วย โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง

แหล่งที่มา








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น